วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
                . ความหมายของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Conservation) “การอนุรักษ์หมายถึง การใช้อย่างสมเหตุสมผล เพื่อการมีใช้ต่อไป เป็นคำนิยามง่ายๆ แต่เป็นการเน้น การใช้ทรัพยากรเป็นพื้นฐาน อีกทั้งยังมีแนว มีใช้ตลอดไปซึ่งก็หมายถึงว่า จะใช้ทรัพยากรอย่างไรจึงจะทำให้มีทรัพยากรเป็นต้นทุน (Stock) ที่สามารถมีใช้ตลอดไปได้ อย่างไรก็ตาม การใช้นี้มิได้หมายถึงเพียงการนำมาบริโภค ดื่ม กิน หรือสัมผัสเท่านั้น แต่หมายไปถึงการเก็บเอาไว้เป็นต้นทุน ฟื้นฟู หรือพัฒนาสิ่งอื่นให้ดีขึ้นก็ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า การอนุรักษ์หมายถึง การใช้ประโยชน์อย่างมีเหตุผล (To Use Rationally) และมีการสร้างสรรค์ (Build up)
                .หลักการของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์จึงต้องกำหนดหลักการให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรการและสร้างแผนการอนุรักษ์ต่อไป สำหรับหลักการอนุรักษ์ที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้
                   .  การใช้อย่างยั่งยืน ทรัพยากรทุกประเภททุกกลุ่มต้องมีแผนการใช้อย่างยั่งยืน (Sustainable Utilization) ซึ่งต้องมีการวางแผนการใช้ตามสมบัติเฉพาะตัวของทรัพยากร พร้อมทั้งมีการเลือกเทคโนโลยีที่จะใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมกับชนิดทรัพยากร ปริมาณการเก็บเกี่ยวเพื่อการใช้งาน ช่วงเวลาที่จะนำมาใช้ และกำจัด/บำบัด ของเสียมลพิษให้หมดไป หรือเหลือน้อยจนไม่มีพิษภัย
                   .  การฟื้นฟูสิ่งเสื่อมโทรม ทรัพยากร- ธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เมื่อมีการใช้แล้วย่อมเกิดความเสื่อมโทรม เพราะใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสม เก็บเกี่ยวมากเกินความสามารถในการปรับตัวของระบบ มีสารพิษเกิดขึ้น เก็บเกี่ยวบ่อยเกินไปและไม่ถูกต้องตามกาลเวลา จำเป็นต้องทำการฟื้นฟูให้ดีเสียก่อน จนทรัพยากร/สิ่งแวดล้อมนั้นตั้งตัวได้ จึงสามารถนำมาใช้ได้ในโอกาสต่อไป อาจใช้เวลาในการฟื้นฟู การกำจัด/บำบัด หรือการทดแทนเป็นปีๆ
                  .  การสงวนของหายาก ทรัพยากรบางชนิด/ประเภท มีการใช้มากเกินไป หรือมีการแปรสภาพเป็นสิ่งอื่นทำให้บางชนิดของทรัพยากร/   สิ่งแวดล้อม ถ้าปล่อยให้มีการใช้เกิดขึ้นแล้ว อาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ได้ จำเป็นต้องสงวนหรือเก็บไว้เพื่อเป็นแม่พันธุ์หรือตัวแม่บทในการผลิตมากขึ้น จนแน่ใจได้ว่าผลผลิตมีปริมาณมากพอแล้วจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
                หลักการอนุรักษ์ทั้ง ๓ หลักการนี้ มีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน กล่าวคือ ต้องใช้ร่วมกันตั้งแต่การใช้ทรัพยากร ต้องพินิจพิเคราะห์ให้ดีว่า จะมีทรัพยากรใช้ตลอดไปหรือไม่ ถ้าใช้แล้วทรัพยากรใดที่มีความเสื่อมโทรมเกิดขึ้น หรือถ้าสิ่งใดใช้มากเกินไป จำเป็นต้องมีการสงวนหรือเก็บรักษาเอาไว้ จะเห็นได้ว่าขั้นตอนของทั้ง ๓ หลักการจะผสมผสานกันเสมอ
                .วิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เห็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างชัดเจน วิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ประกอบด้วย ๘ วิธีที่สำคัญดังนี้
                  .  การใช้ หมายถึง การใช้หลายรูปแบบ เช่น บริโภคโดยตรง เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัส การให้ความสะดวกและความปลอดภัย รวมไปถึงพลังงานเหล่านี้ต้องเป็นเรื่องการใช้แบบยั่งยืน
                .  การเก็บกัก หมายถึง การรวบรวมและเก็บกักทรัพยากรที่มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนในบางเวลา หรือคาดว่าจะเกิดวิกฤติการณ์ขึ้น บางครั้งอาจเก็บกักเอาไว้เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในปริมาณที่ควบคุมได้
                .  การักษา/ซ่อมแซม หมายถึง การดำเนินการใดๆ ต่อทรัพยากรที่ขาดไป ไม่ทำตามพฤติกรรมเสื่อมโทรม/เกิดปัญหา เป็นจุด/พื้นที่เล็กๆ สามารถให้ฟื้นคืนสภาพเดิมได้ อาจใช้เทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือช่วยให้ดีเหมือนเดิมจนสามารถนำมาใช้ได้
                .  การฟื้นฟู หมายถึง การดำเนินการใดๆ ต่อทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ให้สิ่งเหล่านี้เป็นปกติ สามารถเอื้อประโยชน์ในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งการฟื้นฟูต้องใช้เวลาและเทคโนโลยีเข้าช่วยเสมอ
                .  การพัฒนา หมายถึง การทำสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น การที่ต้องพัฒนาเพราะต้องการเร่งหรือเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดผลิตผลที่ดีขึ้น การพัฒนาที่ถูกต้องนี้ ต้องใช้ทั้งความรู้ เทคโนโลยี และการวางแผนที่ดี
                .  การป้องกัน หมายถึง การป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นมิให้ลุกลามมากกว่านี้ รวมไปถึงการป้องกันสิ่งที่ไม่เกิดให้ด้วย การป้องกันต้องใช้เทคโนโลยีและการวางแผนที่ดี
                .  การสงวน หมายถึง การเก็บไว้โดยไม่แตะต้องหรือนำไปใช้ด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม การสงวนอาจกำหนดเวลาที่เก็บไว้โดยไม่ให้มีการแตะต้องตามเวลาที่กำหนดไว้ก็ได้
                .  การแบ่งเขต หมายถึง ทำการแบ่งเขตหรือแบ่งกลุ่ม/ประเภท ตามสมบัติของทรัพยากร สาเหตุที่สำคัญ เพราะวิธีการให้ความรู้หรือกฎระเบียบที่นำมาใช้นั้นไม่ได้ผล  หรือต้องการจะแบ่งเขตให้ชัดเจน เพื่อการอนุรักษ์ที่ได้ผล เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตเมืองเพื่อการควบคุมมลพิษ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตนี้ต้องมีการสร้างมาตรการกำกับด้วย มิฉะนั้นแล้วจะไม่เกิดผล
                ทั้ง ๘ วิธีนี้สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมนำไปใช้ในการสร้างแผนการจัดการ หรือแผนที่แก้ไขผลกระทบ    สิ่งแวดล้อมได้

แนวพระราชดำริโดยรวมด้านการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม
                จากแนวความคิดเชิงทฤษฎีทั้งสองประการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ ทฤษฎีใหม่ และระบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำมาเป็นกรณีศึกษาดังกล่าวแล้ว สามารถสรุปให้เห็นแนวพระราชดำริโดยรวมด้านการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ๙ ประการ ดังนี้
                .  ความหลากหลาย (Multiple/Diverse) แนวพระราชดำริในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดประการแรกนี้ คือ ทรงเน้นความหลากหลายที่ผสมผสานกันได้ ทั้งในแง่ของการคิดและการปฏิบัติ ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับสภาพของโลกและพื้นที่โดยธรรมชาติที่มีลักษณะแบบพหุนิยม (Plurality) ที่ต้องการหลักและวิธีคิดแตกต่างกันไปสำหรับกลุ่มคนและกลุ่มปัญหาที่มีความแตกต่างหลากหลาย แนวพระราชดำริดังกล่าวนับว่าก้าวพ้นความคิดและทฤษฎีแบบตะวันตก ซึ่งมีลักษณะแบบเอกนิยม (Singularity) คือ ความเป็นหนึ่งเดียว แบบฉบับเดียว และทวินิยมที่คิดแคบๆ แค่ ๒ ด้าน อันเป็นแนวความคิดที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน และส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนต่างๆ ของประเทศ
                .  การร่วมนำ (Co-Existing) แนวพระ-ราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เน้นการดำรงอยู่ร่วมกันของสิ่งที่แตกต่างกัน (ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเดิมที่คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัยคนส่วนน้อย) ระบบความคิดดังกล่าวเป็นหลักการของการพึ่งพาอิงกัน ที่มีจริยธรรมของความสามัคคี มีเมตตา โดยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของสิ่งที่ขัดแย้งแตกต่างกันได้ โดยไม่ต้องหักล้างกัน ไม่ครอบงำกัน แต่เพิ่มพลังให้แก่กันและกัน
                ตัวอย่างของการร่วมนำในแนวพระราชดำริ จะถือหลักให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงทรงเรียกกระบวนการนี้ว่า เป็นการ ระเบิดจากข้างในคือ พระองค์ทรงใช้หลักของการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้กำหนดวิถีทางของตนเอง โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้เสียประโยชน์ อันเป็นวิธีการที่ราษฎรมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเกื้อกูลคนในสังคมเดียวกัน
                .  ได้ประโยชน์ร่วมกัน (Stakeholders) เป็นทฤษฎีที่ผนึกประสานเป็นเนื้อเดียวกับการปฏิบัติ โดยมีหลักการของการได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีฝ่ายที่ได้หมดหรือเสียหมด หรือฝ่ายหนึ่งได้มากเกินไป ในส่วนของทฤษฎีมีพระราชดำริเกี่ยวกับลักษณะของทฤษฎีว่าต้องไม่ติดตำรามากเกินไป ต้องใช้ตำราแบบยืดหยุ่นได้ (Flexible) และสามารถปฏิบัติได้จริง
                ในการปฏิบัติ จะกำหนดอย่างเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนจากขั้นต้น (พื้นฐาน) ซึ่งเป็นแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แล้วพัฒนาไปเป็นขั้นก้าวหน้า ซึ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเริ่มต้นจากพึ่งตนเองได้ ขั้นที่สอง เป็นการรวมพลังในชุมชนให้เข้มแข็ง ส่วนขั้นสามจะใช้พลังชุมชนติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก กระบวนการในแต่ละขั้นตอนจะมุ่งสู่ความร่วมมือมากกว่าการแข่งขันและความขัดแย้งในกลุ่ม ทรงเน้นความสำคัญของการประสานงานมากกว่าการบังคับบัญชา ดังนั้น การขยายผลการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงมุ่งให้บริการ (Service Oriented) ไม่มุ่งเอาประโยชน์จากราษฎร
                .  ความเรียบง่ายและประหยัด (simplicity) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสอยู่เนืองๆ ถึงคำว่า ทำให้ง่ายอันเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ใช้แนวความคิดและทฤษฎีที่มีความง่าย ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย จึงมีพลังสูง คนทั่วไปทุกระดับสามารถเข้าใจ เข้าถึง และนำไปทำให้เห็นผลจริงได้ ในส่วนการประหยัดค่าใช้จ่าย วิธีการหนึ่งที่ทรงนำมาใช้ คือการใช้วิธีการทางธรรมชาติเข้าช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือกรรมวิธีที่มีราคาแพง ตัวอย่างที่เห็นได้ เช่น การใช้ผักตบชวาเพื่อบำบัดน้ำเสีย หรือเมื่อจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี จะทรงเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมากกว่าจะใช้เทคโนโลยีที่นำสมัยซึ่งอาจมีราคาแพงเกินไป ดังตัวอย่างกังหันน้ำชัยพัฒนาที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำขึ้น เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน
                .  บูรณาการแบบเบ็ดเสร็จ (Integration) ในการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ แม้จะแยกออกเป็นโครงการย่อยๆ ต่างวาระ ต่างพื้นที่ก็ตาม แต่ทุกโครงการจะสอดประสานกันเป็นภาพรวม ดังตัวอย่างที่มีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ก็จะต้องมีโครงการจัดการที่ดิน น้ำ และป่าไม้ ดำเนินงานไปด้วย ตามความจำเป็นและความเหมาะสม ซึ่งจะเห็นได้จากการดำเนินงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ เพราะทรงเห็นว่า การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติแวดล้อม ต้องทำอย่างเป็นระบบ จะแยกทำเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เนื่องจากทุกสิ่งอยู่ร่วมกันและต่างมีผลกระทบแก่กัน แนวพระราชดำริดังกล่าว ได้นำมาใช้ในการดำเนินงานโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติร่วมกันในคราวเดียวกัน และในพื้นที่เดียวกัน เพื่อสะดวกในการดำเนินงานและติดตามผล อันเป็นวิธีการทำงานที่เรียกว่า บริการรวมจุดเดียวหรือ บริการเบ็ดเสร็จ” (One-Stop-Service) ทั้งยังเป็นการสร้างความรู้ รัก สามัคคี ในหน่วยงานที่ปฏิบัติงานร่วมกันอีกด้วย
                .  ความสมสมัย (Timely) สอดคล้องกับสภาพการณ์ของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ตามความเป็นไปที่แท้จริงของโลกาภิวัตน์ (Globalization) คือการย่นกาละ (Time) และเทศะ (Space) ให้ใกล้กันมากขึ้น ดังนั้นโลกยุคใหม่จึงเป็นโลกของความรวดเร็ว (Space) ความซับซ้อน (Complexity) และความหลากหลาย (Diversity) ทำให้เกิดความรวดเร็วในการโอนถ่ายไหลเวียนของสื่อสารข้อมูลและการลงทุนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงจึงไม่เป็นขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไปอย่างที่ผ่านมา เกิดการท้าทายใหม่ๆ รอบด้าน ซึ่งรวดเร็วและไม่เป็นระบบมากขึ้น จำเป็นที่เราต้องมีวิธีคิดใหม่ที่หลากหลาย ซึ่งหลักและวิธีคิดใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังกรณีของการพระราชทานแนวพระราชดำริในระบบเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความหลากหลายผสมผสานกันได้ เป็นหลักและวิธีที่ก่อให้เกิดการพลิกสถานการณ์เก่าให้มีทางออกในการแก้ปัญหาและพัฒนาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ได้
                .  แนวคิดแบบองค์รวม (Holistic Approach) แนวพระราชดำริในการดำเนินงานโครงการ มิใช่เป็นทฤษฎีด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ แต่จะมีลักษณะแบบองค์รวมซึ่งมีหลายมิติที่เกี่ยวข้องกัน และมีผลต่อกันทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และปรัชญาการดำรงชีวิต ทรงให้ความสำคัญแก่คนกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ด้วยการพัฒนาในทุกด้านให้มีความเป็นอยู่ที่เริ่มจาก พออยู่พอกินอันเป็นความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต และปูพื้นฐานสำหรับความ อยู่ดีกินดีต่อไปในอนาคต อันต้องให้ความสำคัญแก่คนและสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป
                .  มีพลังบันดาลใจ (Inspiring) แนวพระ-ราชดำริที่พระราชทานเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนที่ยากไร้จากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ทรงกระตุ้นให้ผู้คนที่เผชิญกับปัญหา เข้าใจถึงความเป็นจริง ยอมรับปัญหา สำหรับผู้      ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ให้พิจารณาผลสำเร็จที่เป็นการ คุ้มค่ามากกว่าการ คุ้มทุนดังที่เคยมีพระราชกระแสว่า ขาดทุนคือกำไร” (Our Loss is Our Gain) กล่าวคือ การขาดทุน คือการลงทุนเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่ต้องใช้ทรัพย์สิน เวลา บุคลากร ซึ่งไม่ได้กลับมาเป็นตัวเงินให้เห็น แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะกำไรคือ ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แนวพระราชดำริดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับการพัฒนาไม่ท้อแท้ หรือมีปมด้อยจากความทุกข์ยาก แต่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์ที่สามารถทำอะไรได้ และสามารถมีความสุขได้ตามอัตภาพโดยไม่ถูกมองว่าเป็นผู้ด้อยพัฒนา หรือเป็นปัญหาของการพัฒนาความเจริญของบ้านเมือง นับว่าได้ประโยชน์ทั้งแก่การดำรงชีพและดำรงชาติเป็นอย่างยิ่ง
                .  มีความเป็นสากล (Universal) ปราศจากผลประโยชน์และปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง เนื่องจากแนวพระราชดำริอิงหลักของธรรมชาติที่สามารถสร้างดุลยภาพระหว่างสรรพสิ่งที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยเสริมพลังซึ่งกันและกัน บนแนวความคิดที่มีรากฐานของเมตตาธรรม จริยธรรม ของความพอดี และพอเพียง อันเป็นจริยธรรมของการอยู่ร่วมกันในโลก ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ที่ไม่เบียดเบียนเอาชนะกันแบบทำลาย แต่เกิดดุลยภาพเสมอกันที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ตามศักยภาพของตน ซึ่งต่างกับแนวความคิดและทฤษฎีทางตะวันตกที่มุ่งจะควบคุมมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อครอบงำและเอาชนะทั้งมนุษย์และธรรมชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว